แอดมิน

Mar 18, 20211 min

7 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการทำโรงงานผลิตอาหาร มาตรฐาน Good Manufacturing Practice หรือ GMP

1. Good Manufacturing Practice หรือ GMP คืออาจแปลอย่างตรงตัวก็จะหมายถึงกระบวนการผลิตที่ดี การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร เป็นระบบประกันคุณภาพที่มีการปฏิบัติในการผลิตอาหาร เพื่อให้ เกิดความปลอดภัยและมั่นใจต่อการบริโภค มาตรฐาน GMP ได้รับการรับรองจากทั่วโลก GMP มีความน่าเชื่อถือสูงมากเพราะได้รับการรับรองจากทั่วโลกแล้วว่ามีมาตรฐานที่ดีในเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิตอาหาร มีการพิสูจน์จากกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารทั่วโลกว่า GMP ทำให้อาหารจากกระบวนการผลิตมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

2. หลักการของ GMP จึงครอบคลุมตั้งแต่สถานที่ตั้งของสถานประกอบการ โครงสร้างอาคาร ระบบการผลิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีคุณภาพ ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน นับตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนการผลิตและทําให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัย โดยเน้นการ ป้องกันและขจัดความเสี่ยงที่อาจจะทําให้อาหารเป็นพิษ เป็นอันตราย หรือเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ระบบควบคุมตั้งแต่วัตถุดิบระหว่างการผลิต ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การจัดเก็บ การควบคุมคุณภาพ และการขนส่งจนถึงผู้บริโภค

3. มาตรฐาน GMP แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP) สำหรับอาหารทุกประเภท

  2. GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP) สำหรับเน้นเรื่องความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะ

4. GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP) เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้สำหรับอาหารทุกประเภท มี 6 ข้อกําหนดด้วยกัน ได้แก่

  • สถานที่ตั้งและอาคารผลิต

  • เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต

  • การควบคุมกระบวนการผลิต

  • การสุขาภิบาล

  • การบํารุงรักษาและการทําความสะอาด

  • บุคลากรและสุขลักษณะ

ในแต่ละข้อกําหนดมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ผลิตมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อน อันตราย ทั้งทางด้านจุลินทรีย์เคมีและกายภาพลงสู่ผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจมาจากสิ่งแวดล้อม ตัวอาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้

5. ข้อกำหนด General GMP จะประกอบด้วย

  • ด้านสถานประกอบการ จะต้องสะอาดและตั้งอยู่ในที่ที่ห่างไกลจากสิ่งที่ทำให้อาหารปนเปื้อนสถานประกอบการที่ใช้ดำเนินกระบวนการผลิตต้องมีขนาดเหมาะสม ออกแบบและก่อสร้างให้รองรับกับการซ่อมบำรุงและการรักษาความสะอาด สะดวกต่อการปฏิบัติงาน ส่วนพื้นที่ภายในโรงผลิตจะต้องแยกบริเวณผลิตอาหารออกเป็นสัดส่วน ทั้งยังต้องระบายอากาศได้อย่างเหมาะสม

  • ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ต้องทำจากวัสดุที่ปลอดภัยไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร ไม่เป็นสนิม ไม่เป็นพิษ แข็งแรงและมีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ผ่านการฆ่าเชื้อก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต นอกจากนี้ต้องแยกเก็บเป็นสัดส่วน และมีการป้องกันฝุ่นละอองรวมถึงสิ่งสกปรกด้วย

  • ด้านกระบวนการผลิต มีการควบคุมตามหลักสุขาภิบาลทุกขั้นตอนอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ส่วนผสม ภาชนะ การผลิต การเก็บรักษา การขนย้าย และขนส่งผลิตภัณฑ์อาหาร

  • ด้านการสุขาภิบาล ต้องควบคุมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น อ่างล้างมือ ห้องน้ำ ระบบกำจัดขยะมูลฝอย การระบายน้ำทิ้ง การป้องกันสัตว์และแมลง เป็นต้น

  • ด้านการบำรุงรักษาและการทำความสะอาด เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างถูกต้องด้านความสะอาดและเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกรวมถึงสารอันตรายปนเปื้อนสู่ผลิตภัณฑ์อาหาร ทางโรงงานจะต้องมีการทำความสะอาด ดูแลและเก็บรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์สำหรับผลิตให้อยู่ในสภาพที่สะอาด ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการผลิต

  • ด้านบุคลากร ต้องสวมเครื่องแต่งกายที่สะอาดและเหมาะต่อการปฏิบัติงาน ต้องมีสุขภาพดี ไม่เป็นวัณโรคในระยะอันตราย และไม่เป็นโรคผิวหนังที่น่ารังเกียจหรือโรคเรื้อน

6. GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP) คือหลักเกณฑ์ที่เพิ่มเติมจาก GMP ทั่วไป เน้นในเรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัยของแต่ละผลิตภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะ เช่น ข้อกําหนด GMP สำหรับน้ำบริโภค หรือข้อกําหนด GMP สำหรับนมพร้อมบริโภคชนิดเหลวที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนโดยวิธีพาสเจอร์ไรส์ เป็นต้น

7. การบังคับใช้ GMP

สำนักงานคณะกรรมอาหารและยาของไทยนำเอาหลักเกณฑ์มาตรฐาน GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543

ผู้ประกอบการอาหารจึงต้องศึกษาข้อกำหนดโดยละเอียดเพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐาน นำมาซึ่งอาหารคุณภาพที่อยู่บนพื้นฐานข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งมาตรฐาน GMP ครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544

ผู้เขียนบทความ

นางสาวพลอยไพลิน ตั้งบรรเจิดสุข (หยก

    9270
    3